logo
เขต

ซีรีส์เกาหลีเรื่อง D.P. และความจริงเกี่ยวกับการรับราชการทหารในเกาหลี

การรับราชการทหารในเกาหลีเป็นแบบที่ซีรีส์เกาหลีเรื่อง D.P. นำเสนอจริง ๆ เหรอ?

Yeong
2 years ago





ความจริงเกี่ยวกับการรับราชการทหารในเกาหลี


สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน


#D.P. #เกณฑ์ทหาร

#ทหารในเกาหลี #ซีรีส์เกาหลี

 

วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันค่ะว่าการรับราชการทหารในเกาหลีเป็นแบบที่ซีรีส์เกาหลีเรื่อง D.P. นำเสนอจริง ๆ เหรอ? ในโลกแห่งความเป็นจริง กองทัพมีไว้เพื่อปกป้องประเทศชาติและประชาชน แต่ความกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถดึงด้านมืดของมนุษย์ออกมาได้เช่นกันค่ะ   


  🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี


ความจริงเกี่ยวกับการรับราชการทหารในเกาหลี

D.P. ย่อมาจากอะไร?
D.P. ย่อมาจากอะไร?

ที่มา: Netflix


D.P. ย่อมาจาก Deserter Pursuit หรือ "군무이탈체포전담조" ในภาษาเกาหลี เป็นหน่วยที่มีหน้าที่จับทหารที่หนีจากการรับราชการทหารนั่นเองค่ะ

อันที่จริงแล้ว หน่วยนี้มีอยู่จริง ๆ ในกองทัพเกาหลีใต้นะคะ โดยหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีมจะทำงานเป็นคู่เพื่อทำหน้าที่ในการจับกุมผู้หนีทัพค่ะ

และเนื่องจากลักษณะพิเศษของงานที่ต้องทำ สมาชิกในหน่วยก็จะเลือกมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าค่ะ โดยในการล่าทหารที่หนีทัพพวกเขาจะต้องดูเหมือนคนธรรมดาให้มากที่สุด ดังนั้นสมาชิกในหน่วย D.P. จึงได้รับอนุญาตให้สวมใส่เสื้อผ้าลำลอง, ไว้ผมยาว, และใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ขณะอยู่ข้างนอกได้ค่ะ


D.P. ย่อมาจากอะไร?ที่มา: Netflix


ส่วนหนึ่งของชื่อทีมในภาษาเกาหลี "체포전담조" หมายถึงการจับกุมจริง ๆ ค่ะ โดยชื่อนี้มักจะปรากฏในหน่วยงานของตำรวจมากกว่า ในช่วงแรก ๆ ปฏิบัติการจับกุมแบบลับ ๆ นี้มักจะใช้กับนักศึกษาหรือใครก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือทางสังคม โดยจะเป็นแผนการจับกุมที่มุ่งเป้าแบบเฉพาะบุคคลนั่นเอง

ในปัจจุบันค่อนข้างหายากและส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ของอาชญากรรมขนาดใหญ่และกลุ่มที่กำหนดให้ตำรวจจัดการโดยเฉพาะเท่านั้นค่ะ


ข้อมูลทางการทหารของเกาหลี

ข้อมูลทางการทหารของเกาหลีที่มา: Netflix


ในซีรีส์เรื่อง D.P. ได้มีเปิดเผยส่วนต่าง ๆ ของกองทัพเกาหลีที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงค่ะ โดยประเด็นที่น่าหนักใจที่สุดก็คือเหตุการณ์การกลั่นแกล้งและการฆ่าตัวตายในกองทัพ เมื่อความตายในกองทัพไม่ใช่เพราะสงคราม แต่มาจากการฆ่าตัวตาย แล้วเราควรจะโทษใครดีล่ะ?

จากข้อมูลระหว่างปี 2005 - 2010 จำนวนทหารเกาหลีใต้ที่ฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขคือ 64 คน (2005), 77 คน (2006), 80 คน (2007), 75 คน (2008), 81 คน (2009) และ 82 คน (2010)

ข้อมูลตั้งแต่ปี 2006 ถึงเดือนมิถุนายน 2011 แสดงให้เห็นว่ามีผู้เสียชีวิตในกองทัพทั้งหมด 552 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากถึง 63% ด้วยกันค่ะ

จากกรณีเหล่านี้ ผู้เสียชีวิต 89 ราย (25.6%) เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการฝึกได้ ส่วนผู้เสียชีวิต 61 ราย (17.5%) มาจากสภาพแวดล้อมของครอบครัว นอกจากนี้ก็ยังมีผู้เสียชีวิต 58 ราย (16.7%) มาจากภาระของงานที่ได้รับ ผู้เสียชีวิตอีก 55 ราย (15.8%) มาจากความเหน็ดเหนื่อยและการมองโลกในแง่ร้าย และผู้เสียชีวิต 34 ราย (9.8%) มาจากการล่วงละเมิดทางเพศและการล่วงละเมิดทางจิตใจค่ะ


ข้อมูลทางการทหารของเกาหลีที่มา: Netflix


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมได้ผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงและปฏิรูปวัฒนธรรมทางการทหาร ซึ่งรวมถึงการให้รุ่นพี่และรุ่นน้องใช้พื้นที่อยู่ในบริเวณเดียวกันในช่วงพักเพื่อลดความขัดแย้งตามลำดับชั้น และอนุญาตให้ออกไปข้างนอกในวันธรรมดาได้ แน่นอนว่าอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือหลังการฝึกได้เช่นกันค่ะ

แม้ดูเหมือนว่าจะได้ผล แต่นี่หมายความว่ากองทัพเปลี่ยนไปจริง ๆ เหรอ?

จากรายงานพบว่าในปี 2020 ทหารทั้งหมด 55 นายที่เสียชีวิตในกองทัพเกาหลีใต้ มี 44 นายที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายค่ะ


ข้อมูลทางการทหารของเกาหลีที่มา: Netflix


ซีรีส์เรื่อง D.P. แสดงให้เราเห็นว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิตเหล่านี้คือชีวิตของคนคนหนึ่งจริง ๆ และแม้ว่าจำนวนการฆ่าตัวตายในกองทัพจะลดลง แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าภาพรวมของกองทัพจะเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดค่ะ

ปัญหาเดิม ๆ ก็ยังคงมีอยู่ นั่นก็คือการทุบตี, การดูถูก, ความรุนแรงทางเพศ, การกลั่นแกล้ง ฯลฯ และวัฒนธรรมการพยายามปิดปากเหยื่อโดยการข่มขู่ก็หนักมาขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันค่ะ


เรื่องจริงเบื้องหลัง D.P.

เรื่องจริงเบื้องหลัง D.P.ทหารเกาหลี


มีคำกล่าวในกองทัพเกาหลีว่า “ถ้าทนได้ก็จะจบลงแบบพลทหารยุน แต่ถ้าทนไม่ไหวก็จะกลายเป็นจ่าอิม” ค่ะ 


เหตุการณ์พลทหารยุน

เหตุการณ์พลทหารยุนที่มา: KBS


เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2014 เหตุการณ์การรังแกในกองพลทหารปืนใหญ่ที่ 977 ของกองทหารราบที่ 28 ทำให้ "พลทหารยุนซึงจู" ทหารเกณฑ์อายุ 20 ปีเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้าค่ะ

เขาถูกทหารอาวุโส 4 นายทุบตีที่ศีรษะและหน้าอก แม้ว่าเขาจะหมดสติไปแล้ว แต่ทหารทั้ง 4 นายก็ยังคงไร้ความปราณีและทุบตีเขาต่อไปเรื่อย ๆ จนทำให้เขาเสียชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลค่ะ


เหตุการณ์พลทหารยุน


แม้ว่าในตอนแรกจะดูเหมือนเป็นแค่อุบัติเหตุในค่ายทหาร แต่จากการสอบสวนที่เข้มข้น ศูนย์สิทธิมนุษยชนทางการทหารก็ได้เปิดเผยหลักฐานการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นกับพลทหารยุน รวมถึงมีการบังคับให้เขากินยาสีฟันและเสมหะของทหารคนอื่น ๆ และโดนบังคับไม่ให้นอนด้วยค่ะ

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับประเทศชาติอย่างรุนแรงเลยล่ะค่ะ และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ แม้แต่นายทหารคนอื่น ๆ ที่เห็นการใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้เข้าไปหยุดยั้งแต่อย่างใด จนนำไปสู่การเสียชีวิตของชายหนุ่มที่เข้าร่วมกองทัพตามคำสั่งของรัฐในที่สุด


เหตุการณ์จ่าอิม

เหตุการณ์จ่าอิมการจำลองอาชญากรรมของจ่าอิม (ที่มา: 중앙일보)


อิมโดบิน จ่าสิบเอกในกองทหารราบที่ 55 ของกองทหารราบที่ 22 ในเขตโกซึงกุน จังหวัดคังวอนโด ได้โจมตีเพื่อนของเขาด้วยปืนและระเบิด และจากเหตุการณ์นี้ก็มีคนเสียชีวิตไป 5 คนและบาดเจ็บสาหัสอีก 7 คนเลยล่ะค่ะ

ในตอนนั้นกองทัพต้องออกประกาศเตือนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงออกจากบ้าน เนื่องจากอิมโดบินหนีออกจากค่ายทหารหลังจากทำการสังหารเพื่อนทหารของเขา


เหตุการณ์จ่าอิมเหยื่อของจ่าอิม (ที่มา: 더팩트)


ทางกองทัพพยายามให้จ่าอิมได้คุยโทรศัพท์กับครอบครัวเพื่อเกลี้ยกล่อมให้เขายอมจำนน แต่ก็ยังไม่ได้ผลค่ะ หลังจากนั้นจ่าอิมก็เขียนจดหมายลาตายและยิงตัวตายที่หน้าอก แต่ก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและหายดีในเวลาต่อมา

มีข่าวลือมากมายเกี่ยวกับแรงจูงใจของจ่าอิมค่ะ เนื่องจากเขาเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้นก็จะได้ออกจากกองทัพแล้ว แต่ทำไมเขาถึงก่อเหตุขึ้นมากันนะ?

ซึ่งความจริงก็คือ เขาถูกรังแกในช่วงที่เป็นทหารนั่นเองค่ะ โดยในจดหมายลาตายของเขาก็มีการกล่าวถึงการกักขังและการกลั่นแกล้ง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น


มีความยุติธรรมในกองทัพหรือไม่?

มีความยุติธรรมในกองทัพหรือไม่?ที่มา: Netflix


แม้จ่าอิมจะปรากฏตัวในศาลและกล่าวว่าเขาถูกกักขังและกลั่นแกล้งในกองทัพ แต่ผู้พิพากษาก็ตัดสินว่าการกลั่นแกล้งที่เขาเจอนั้นไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการก่ออาชญากรรม รวมถึงการสังหารคนผู้บริสุทธิ์ได้

สุดท้ายจ่าอิมก็ถูกตัดสินประหารชีวิต และเป็นคนที่ 61 ในเกาหลีและคนที่ 4 จากกองทัพที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยคดีฆ่าคนตายโดยเจตนาที่รุนแรงค่ะ


มีความยุติธรรมในกองทัพหรือไม่?ที่มา: Netflix


ส่วนทหารที่ทำร้ายร่างกายและทำร้านพลทหารยุนซึงจูจนถึงแก่ความตายก็ถูกตัดสินจำคุก 10 - 35 ปี และเจ้าหน้าที่บางคนก็ถูกตั้งข้อหาละเลยหน้าที่ด้วยค่ะ

แต่นั่นแสดงว่าความยุติธรรมในกองทัพมีจริง ๆ เหรอ?

แม้กฎหมายทหารจะรุนแรงกว่ากฎหมายอาญาที่บังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ตั้งแต่ปี 2015 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2020 ได้มีการลงโทษผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 1,700 คดี ในขณะที่ศาลทหารมีการลงโทษเพียง 175 คดีเท่านั้น

สัดส่วนของการลงโทษในกองทัพนั้นต่ำมาก ๆ และยังมีหลายกรณีที่ผู้กระทำผิดถูกปลดออกจากกองทัพอย่างมีกลยุทธ์และถูกดำเนินคดีในศาลทั่วไปเพื่อรับโทษที่ต่ำกว่าค่ะ


มีความยุติธรรมในกองทัพหรือไม่?ที่มา: Netflix


ประโยคจากซีรีส์เรื่อง D.P. ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกตัวสั่นก็คือ "คุณรู้จักโรงอาหารในค่ายทหารของเราไหม มันอยู่มาตั้งแต่ปี 1953  เพราะพวกเราใช้มันมาตั้งแต่สงครามเกาหลี ขนาดโรงอาหารยังไม่เคยเปลี่ยน แล้วกองทัพจะเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไรกัน?"

เราคิดว่านั่นคือคำตอบที่ดีที่สุดของคำถามที่ถามถึงความยุติธรรมในกองทัพค่ะ เห็นได้ชัดเลยว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ


ความจริงที่ปรากฏในซีรีส์

ความจริงที่ปรากฏในซีรีส์ที่มา: Netflix


สาเหตุที่ซีรีส์เรื่อง D.P. ได้รับความสนใจอย่างมากก็เพราะว่าเป็นซีรีส์ที่สร้างขึ้นมาจากความจริงและแสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกองทัพอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าการกระทำบางอย่างอาจจะดูเกินจริงไปบ้าง แต่ด้านมืดต่าง ๆ ของชีวิตการเป็นทหาร เช่น ลำดับชั้นและความรุนแรง ก็เป็นส่วนที่มีอยู่จริงและไม่ได้เปิดเผยให้โลกภายนอกได้เห็นบ่อยนักค่ะ

และเนื่องจากเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ความสัมพันธ์ทางทหารยังคงตึงเครียดเนื่องจากการแบ่งแยกของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ แม้สงครามเกาหลีจะสิ้นสุดลงแล้วด้วยการสงบศึก แต่พวกเขาก็ยังต้องวางกำลังทหารและส่งการสนับสนุนโดยเร็วที่สุดหากความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การเกณฑ์ทหารก็ยังคงต้องมีต่อไปค่ะ


ความจริงที่ปรากฏในซีรีส์ที่มา: Netflix


และเพื่อให้เชื่อฟังในสนามรบ ทหารจึงถือว่าการสั่งสอนจากผู้บังคับบัญชาเป็นการกระทำที่สมเหตุสมผลค่ะ กองทัพต้องการให้ทหารเลิกคิดเหมือนพลเรือนทั่วไป และต้องอยู่ในฐานะทหารเท่านั้น

นอกจากนี้ อิทธิพลอันยาวนานของลัทธิขงจื๊อและแนวคิดเชิงลำดับชั้นของสังคมเกาหลีก็ยังขยายวงกว้างในกองทัพอีกด้วย แม้แต่ในมหาวิทยาลัยหรือในที่ทำงาน อายุและยศก็มีความสำคัญมาก ๆ ค่ะ ดังนั้นทุกคนก็น่าจะนึกภาพออกใช่มั้ยคะว่าลำดับชั้นในกองทัพจะเลวร้ายและรุนแรงขนาดไหน?



และนี่ก็คือเหตุผลที่ทหารจำนวนมากเต็มใจที่จะกลายเป็นผู้ส่งต่อความรุนแรงไปสู่ทหารเกณฑ์รุ่นต่อ ๆ ไปนั่นเองค่ะ แม้ว่าพวกเขาจะได้รับประสบการณ์การล่วงละเมิดต่าง ๆ มาจากรุ่นพี่ก็ตาม

และเมื่อกฎถูกปฏิบัติตามโดยคนหมู่มาก ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้ต่อต้านกระแสน้ำจะต้องรับคลื่นที่รุนแรงด้วยตัวคนเดียวค่ะ




เป็นยังไงกันบ้างคะกับซีรีส์เกาหลีเรื่อง D.P. และความจริงเกี่ยวกับการรับราชการทหารในเกาหลี? มีแต่เรื่องน่าตกใจและน่าเศร้าทั้งนั้นเลยใช่มั้ยละคะ? สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู D.P. ก็ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะคะ~!   


🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี

ยอดเข้าชมมากที่สุด

ยอดเข้าชมมากที่สุด