logo
เขต

ทำไมอัตราการเกิดของคนเกาหลีถึงต่ำที่สุดในโลก?

สาเหตุที่อัตราการเกิดของคนเกาหลีต่ำที่สุดในโลกคืออะไรกันนะ?

Jihyun Lee
2 years ago

ทำไมอัตราการเกิดของคนเกาหลีถึงต่ำที่สุดในโลก?

สวัสดีค่ะทุกคน! พวกเรา Creatrip ศูนย์รวบรวมข้อมูลการท่องเที่ยวเกาหลีที่อัพเดทโดยคนเกาหลีในทุก ๆ วัน


#อัตราการเกิด #จัดอันดับ

#วัฒนธรรมเกาหลี #เทรนด์เกาหลี

 

วันนี้เราจะมาพาทุกคนไปค้นหาคำตอบกันค่ะว่าสาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดของคนเกาหลีต่ำที่สุดในโลกคืออะไรกันนะ? มาดูกันดีกว่าว่าอัตราการเกิดที่ต่ำลงจะเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนเกาหลีที่เปลี่ยนไปมากแค่ไหนกันนะ?   

  

  

🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี


อัตราการเกิดของคนเกาหลี

อัตราการเกิดของคนเกาหลี


ตารางด้านบนเป็นส่วนหนึ่งของสถิติโลกจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในปี 2021 ค่ะ คอลัมน์ทางขวาสุดของตารางคืออัตราการเกิดของประเทศต่าง ๆ นั่นเอง

อัตราการเกิดจะสำรวจในผู้หญิงช่วงอายุ 15 ถึง 49 ปีทั้งหมดค่ะ และจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าอัตราการเกิดทั้งหมดในเกาหลีคือ 1.1 คนเท่านั้น ซึ่งมีอันดับ 198 จาก 198 ประเทศในโลก ถือว่าเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในโลกเลยทีเดียว!


การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดทั้งหมดและจำนวนเด็กที่เกิด


แผนภูมิด้านบนคือ "การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเกิดทั้งหมดและจำนวนเด็กที่เกิด" ในเกาหลีตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ค่ะ จากทางซ้ายไปขวาจะแสดงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปี ตั้งแต่ปี 2015, 2018 และ 2020 



จำนวนทารกแรกเกิด
อัตราการเกิดทั้งหมด
2015
438,400 คน
1.24
2018
326,800 คน
0.98
2020
272,400 คน
0.84


จะเห็นได้ว่าอัตราการเกิดทั้งหมดและจำนวนเด็กที่เกิดในเกาหลีลดลงในอัตราที่เร็วขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาใช่มั้ยล่ะคะ? นอกจากนี้อัตราการเกิดทั้งหมดในเกาหลีในปี 2020 ตามการประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลียังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ คิดออกมาได้เพียงแค่ 0.84 เท่านั้นเองค่ะ

แล้วทำไมอัตราการเกิดในเกาหลีถึงต่ำลงกันนะ?

ประเด็นแรกที่ต้องได้รับการแก้ไขก็คืออัตราการเกิดจากผู้หญิงที่แต่งงานแล้วกำลังลดลงค่ะ จากสถิติในปี 2016 อัตราการเกิดทั้งหมดจากผู้หญิงที่แต่งงานแล้วเท่ากับ 2.23 เท่านั้นเอง เห็นได้ชัดเลยว่าแม้จะแต่งงานแล้วแต่ก็ไม่คิดจะมีลูกค่ะ

 

อัตราการเกิดจากผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว


สัดส่วนของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วสูงกว่า 2.0 ในขณะที่อัตราการเกิดทั้งหมดกลับน้อยกว่า 1.0 ค่ะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลาย ๆ ครอบครัวไม่ต้องการหรือไม่สามารถมีลูกได้นั่นเอง และในความเป็นจริงข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ได้แสดงให้เห็นถึงจำนวนการแต่งงานในปี 2020 ที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ไว้ด้วยค่ะ


แนวคิดเรื่องการแต่งงานของคนเกาหลี

ที่มา: Jobkorea x Albamon


นอกจากนี้จากผลการสำรวจของ Jobkorea และ Albamon ยังเห็นได้ชัดเลยว่าแนวคิดเรื่องการแต่งงานของคนเกาหลีได้เปลี่ยนไปอย่างมากขนาดไหนค่ะ ในตารางด้านบนสีเขียวหมายถึง "ไม่ได้วางแผนที่จะแต่งงาน" สีแดงหมายถึง "วางแผนที่จะแต่งงาน" และสีเทาหมายถึง "ยังไม่ได้ตัดสินใจ" ค่ะ

คำตอบของทั้งผู้ชายและผู้หญิงแสดงให้เห็นว่า 24.8% ของผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 และ 30 ปีไม่ได้วางแผนที่จะแต่งงานค่ะ นั่นหมายความว่ามีคนที่ไม่ได้วางแผนจะแต่งงานเยอะมากขนาดไหน! โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การหาแฟนเป็นเรื่อง A Must อย่างประเทศเกาหลีค่ะ

แล้วทำไมคนรุ่นใหม่ในเกาหลีถึงตัดสินใจที่จะไม่แต่งงานและไม่มีลูกกันนะ? มาดูกันดีกว่าว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้อัตราการเกิดต่ำลง!



สาเหตุที่อัตราการเกิดต่ำลง

1. ราคาบ้าน

ราคาบ้าน


ราคาบ้านในเกาหลีสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่น่าเชื่อในปัจจุบันค่ะ ในการที่จะสร้างครอบครัวนั้น บ้านของเราก็ต้องมีพื้นที่สำหรับทั้งครอบครัวใช้มั้ยล่ะคะ? แต่ว่าบ้านหลังใหญ่ขนาดนั้นมีราคาที่แพงเกินไปและเป็นไปไม่ได้ที่จะหาได้ในเกาหลีค่ะ

จะเห็นได้ว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่สามารถแยกตัวเองออกมาจากพ่อแม่ได้ เนื่องจากปัญหาด้านที่อยู่อาศัยค่ะ ดังนั้นการซื้อบ้านเพื่อแต่งงานจึงเป็นเพียงความฝันเท่านั้นเอง


ราคาเฉลี่ยของอพาร์ทเมนต์ในโซลสูงกว่า 900 ล้านวอน


ในปี 2020 รายได้เฉลี่ยของครอบครัว 4 คนในโซลอยู่ที่ประมาณ 57 ล้านวอนต่อปี แต่ราคาเฉลี่ยของอพาร์ทเมนต์ในโซลสูงกว่า 900 ล้านวอนเลยทีเดียวค่ะ! กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเราจะสามารถซื้อบ้านได้ก็ต่อเมื่อทำงานต่อไปโดยไม่มีวันหยุดเป็นเวลาถึง 16 ปีด้วยกันค่ะ! ซึ่งในความเป็นจริงก็ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ สำหรับคู่บ่าวสาวที่ฝันจะมีบ้านที่กว้างขวางในโซลค่ะ

และแม้จะมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในด้านอสังหาริมทรัพย์และระบบเงินกู้สำหรับคู่บ่าวสาว แต่การที่กู้เงินมาซื้อบ้านก็เหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่กับภาระหนี้สินไปอีกหลายปีเลยใช่มั้ยละคะ?


2. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู

 ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู


จริงอยู่ที่ว่าการเลี้ยงลูกไม่ว่าที่ใดในโลกก็จะต้องเสียเงินมากมาย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการพยาบาลและการศึกษาในเกาหลีนั้นมีราคาที่สูงมาก ๆ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูจึงมากขึ้นตามมาค่ะ


ค่าใช้จ่ายในการพยาบาลและการศึกษา


นักเรียนหลาย ๆ คนในเกาหลีมีเป้าหมายในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยค่ะ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเรียนเสริมในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ปกครองก็จะต้องเป็นคนรับผิดชอบค่ะ

ในปี 2019 อัตราการเข้ารับการติวส่วนตัวของนักเรียนเกาหลีอยู่ที่ 74.8% และจากการสำรวจก็พบว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนเสริมที่สถาบันเรียนพิเศษต่าง ๆ โดยเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 429,000 วอนเลยทีเดียวค่ะ! ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรในเกาหลีก็จะสูงมาก ๆ อย่างแน่นอน นอกจากนี้ตามสถิติค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการเลี้ยงดูบุตรจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาระดับวิทยาลัยของคนเกาหลีก็อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านวอนเลยล่ะค่ะ!


พนักงานสัญญาจ้าง


แต่สำหรับคนหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ต้องการจะมีลูก ไม่มีหนทางที่รายได้จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทั้งหมดค่ะ กว่า 30% ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัยในเกาหลีทำงานเป็นพนักงานสัญญาจ้าง และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงประสบกับความไม่มั่นคงในรายได้นั่นเองค่ะ ในสถานการณ์เช่นนี้หากรีบแต่งงานและมีลูกก็อาจจะไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ใช่มั้ยละคะ?


3. วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป


คนเกาหลีมีวัฒนธรรมที่เน้นครอบครัวมาแต่ดั้งเดิมแล้วค่ะ ตั้งแต่สมัยก่อนคนเกาหลีจะแต่งงานเมื่อถึงอายุที่เหมาะสม จากนั้นก็จะมีลูกและทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสียลูก ๆ ค่ะ การใช้ชีวิตแบบนี้ดูเหมือนเป็นการใช้ชีวิตตามแบบแผนที่กำหนดมาแล้วอย่างไรอย่างนั้น


การแต่งงานเป็นเพียงทางเลือก


อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนเกาหลีจำนวนมากที่ไม่เต็มใจจะสละชีวิตส่วนตัวเพื่อให้ครอบครัวเป็นศูนย์กลางค่ะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือมีผู้คนจำนวนมากมองว่าการแต่งงานเป็นเพียงทางเลือกมากกว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำค่ะ


สิทธิมนุษยชนและการศึกษา

ที่มา: tvN


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและการศึกษามากขึ้น ก็มีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่ต้องการแต่งงานค่ะ พวกเธอต่างก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องสละชีวิตส่วนตัวและอาชีพเพื่อครอบครัวและลูก ๆ ซึ่งในความเป็นจริงผู้หญิงส่วนใหญ่ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยก็มองว่าการแต่งงานไม่ใช่ทางเลือกสำหรับอนาคตเช่นกันค่ะ


การแต่งงานเริ่มถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงต่ออาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว


พวกเธอส่วนใหญ่กล่าวว่าเมื่อพบคนที่ถูกใจ ก็อาจจะตัดสินใจแต่งงานค่ะ แต่ ณ ตอนนี้พวกเธอไม่ได้สนใจเรื่องการแต่งงานมากนัก แต่สนใจที่จะทำให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นมากกว่าค่ะ ด้วยเหตุนี้อัตราการแต่งงานจึงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการแต่งงานเริ่มถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงต่ออาชีพการงานและชีวิตส่วนตัวนั่นเองค่ะ


4. การลาคลอดและการลาหยุดที่ยุ่งยาก

การลาคลอดและการลาหยุดที่ยุ่งยาก


แน่นอนว่าระบบการลาคลอดและการลาหยุดของผู้ปกครองในเกาหลีได้รับการควบคุมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจในปี 2018 สัดส่วนของผู้หญิงวัยทำงานที่มีบุตรโดยใช้สิทธิ์การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรนั้นมีเพียง 35.8% เท่านั้นค่ะ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร แต่ในหลาย ๆ บริษัทก็ไม่สามารถขอลาหยุดได้อย่างอิสระค่ะ


สูญเสียอาชีพการงานเนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร


นอกจากนี้ผู้หญิงหลาย ๆ คนยังต้องสูญเสียอาชีพการงานเนื่องจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรด้วยค่ะ แน่นอนว่าตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นไปการไล่ออกจากงานเพราะกำลังตั้งครรภ์หรือมีลูกเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็มีหลายกรณีที่มีการกดดันให้ต้องลาออกค่ะ

การสำรวจยังพบอีกว่าผู้หญิง 2 ใน 10 คนไม่สามารถกลับไปทำงานบริษัทได้หลังจากลาคลอดค่ะ และผู้หญิง 3 ใน 10 คนก็ถูกไล่ออกหลังจากขอลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูบุตรด้วยค่ะ


การลาหยุดของฝ่ายชายที่เป็นคุณพ่อ


นอกจากนี้การลาหยุดของฝ่ายชายที่เป็นคุณพ่อยังยากกว่าฝ่ายหญิงอีกนะคะ เนื่องจากความคิดที่ว่าการเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง หลาย ๆ บริษัทจึงไม่อนุมัติให้ผู้ชายลาพักร้อนเพื่อไปเลี้ยงลูกค่ะ แถมคนในสังคมก็ยังมีความคิดที่ว่า "การที่ผู้ชายเป็นคนเลี้ยงลูก หมายความว่าเป็นผู้ชายที่ไร้ความสามารถจนต้องให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายทำงาน" ค่ะ

ดังนั้นแม้ว่ารัฐบาลเกาหลีจะสนับสนุนการมีบุตรขนาดไหน แต่ก็ไม่สามารถสร้างสังคมที่ตระหนักถึงการลาหยุดเพื่อไปเลี้ยงลูกได้ค่ะ ทำให้กลายเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่นำไปสู่อัตราการเกิดที่ต่ำลงนั่นเอง

 

นำไปสู่อัตราการเกิดที่ต่ำลง


5. เวลาทำงานที่นานขึ้น

เวลาทำงานที่นานขึ้น


จากสถิติแรงงานของ OECD ประเทศเกาหลีมีชื่อเสียงในการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานที่สุดในโลกค่ะ จากข้อมูลในปี 2017 เมื่อเทียบกับการทำงาน 1,746 ชั่วโมงต่อปีใน 36 ประเทศ OECD พบว่าชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อปีในเกาหลีใต้คือ 2024 ชั่วโมงเลยทีเดียวค่ะ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเวลาในการทำงานของคนเกาหลีนานกว่าค่าเฉลี่ย OECD ถึง 1.7 เดือนเลยล่ะค่ะ


การทำงานของคนเกาหลีนานกว่าค่าเฉลี่ย OECD ถึง 1.7 เดือน


ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อใครหลาย ๆ คนค่ะ สำหรับคนที่ยังไม่แต่งงาน พวกเขาก็จะไม่มีเวลาดูแลชีวิตส่วนตัวเลย และแม้กระทั่งการแต่งงานก็จะกลายเป็นภาระในที่สุดค่ะ ส่วนสำหรับคู่แต่งงานที่ยังไม่มีลูกก็กลัวที่จะมีลูก เพราะเป็นห่วงว่าจะไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันนั่นเองค่ะ

แม้กฎหมายจำกัดการทำงาน 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และระบบเข้างานที่ยืดหยุ่นจะถูกนำมาใช้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางสังคมก็ยังคงเป็นเรื่องยากมาก ๆ อยู่ดีค่ะ


6. วัฒนธรรม

Hell Joseon


ในเกาหลีมีคำว่า "Hell Joseon" เป็นคำผสมของภาษาอังกฤษ Hell ซึ่งหมายถึง "นรก" และชื่อเก่าของประเทศเกาหลี "Joseon (โชซอน)" เพื่ออธิบายว่าสภาพสังคมเกาหลีในตอนนี้ใกล้เคียงกับนรกและไร้ซึ่งความหวังขนาดไหนค่ะ  


การแข่งขันที่มากเกินไป


คนหนุ่มสาวในยุคนี้รู้ดีกว่าใคร ๆ เลยว่าการใช้ชีวิตในเกาหลีนั้นยากลำบากขนาดไหน เช่น การแข่งขันที่มากเกินไป, การว่างงาน, อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ, และความไม่สมดุลระหว่างคนรวยและคนจนค่ะ

ซึ่งในความเป็นจริงเกาหลีก็เป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ด้วยนะคะ โดยเฉลี่ยแล้วในทุก ๆ วันจะมี 38 คนที่เลือกจะจบชีวิตลงค่ะ


เกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด


คนเกาหลีหลาย ๆ คนกล่าวว่า "ฉันไม่อยากจะส่งต่อความเจ็บปวดที่ต้องทนอยู่ในนรกโชซอนไปให้ลูก ๆ" หรือ "ฉันไม่อยากเกิดมาในโลกที่ยากลำบากแบบนี้" ค่ะ นอกจากนี้หลาย ๆ คนยังรู้สึกว่าอนาคตของพวกเขามืดมนจนยอมทิ้งความสุขที่ได้จากการมีลูกและครอบครัวไปค่ะ

ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำลงในเกาหลีเป็นผลมาจากเหตุผลทางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน บางคนยังชี้ให้เห็นว่าอัตราการเกิดที่ต่ำลงเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับสังคมผู้สูงอายุค่ะ ในขณะที่บางคนก็กล่าวว่านี่เป็นอีกวิธีในการแก้ปัญหาการมีประชากรมากเกินไปนั่นเอง


สร้างสภาพแวดล้อมที่เราจะอยู่อย่างมีความสุข


และแม้ความคิดเห็นทั้งสองจะมีความคิดที่ถูกต้องไปในคนละแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการที่เราจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เราจะอยู่อย่างมีความสุขโดยมีหรือไม่มีลูกให้ได้ค่ะ

และก็เป็นการตั้งทำถามว่าควรจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือความรู้ความเข้าใจทางสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้นหรือไม่? เพื่อช่วยให้ทั้งบุคคลและครอบครัวได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนั่นเองค่ะ




เป็นยังไงกันบ้างคะกับสาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดของคนเกาหลีต่ำที่สุดในโลก? เห็นได้ชัดเลยว่ายุคสมัยกำลังจะเปลี่ยนไปค่ะ เทรนด์การเป็นโสดและไม่แต่งงานกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปสังคมเกาหลีก็อาจจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแน่ ๆ เลยค่ะ   


🤞🏻Subscribe พวกเรา Creatrip บน Youtube 

Creatrip Instagram
instagram.com/creatrip.thailand

🎈ช้อปปิ้ง|สั่งซื้อสินค้าเกาหลี

ยอดเข้าชมมากที่สุด

ยอดเข้าชมมากที่สุด